โรคอ้วนเป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินไป ส่งผลให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานผิดปกติ ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง
จากข้อมูลของสหพันธ์โรคอ้วนโลก พบว่า ประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2578 จะมีประชากรที่เป็นโรคอ้วนมากกว่า 1.9 พันล้านคน สำหรับในประเทศไทยพบว่าประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วนสูงถึง 42.2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคอ้วนที่มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกกับวิธีการรักษาแบบเดิม ๆ อีกต่อไป
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) เป็นวิธีการรักษาโรคอ้วนที่ต้นเหตุ คือการทานน้อย อิ่มเร็ว และไม่หิวโหย โดยศัลยแพทย์จะใช้กล้องผ่าตัดสอดเข้าไปในช่องท้อง เพื่อผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร หรือ ลดการดูดซึมสารอาหาร ซึ่งผู้ป่วยโรคอ้วนที่สามารถรับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักจะต้องมีค่า BMI 37.5 ขึ้นไป หรือ BMI 32.5 และมีโรคร่วม เช่น เบาหวานชนิดที่ 2, ความดันโลหิตสูง, หรือภาวะไขมันในเลือดสูง
การผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นอีกทางเลือกที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักด้วยวิธีปกติ วิธีนี้เป็นมาตรฐานทางการแพทย์ระดับสากล และเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักได้ หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถควบคุมน้ำหนักได้ง่ายขึ้น โดยการออกกำลังกายและควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
โดยปกติ การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารจะช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 1-2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในช่วงแรก และน้ำหนักจะคงที่ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี และการผ่าตัดด้วยกล้องทำให้แผลเล็ก เจ็บน้อย และฟื้นตัวเร็ว โดยจะสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติภายใน 1 เดือน หรือตามแพทย์แนะนำ