การผ่าตัดกระเพาะอาหารลดน้ำหนักเป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาโรคอ้วนที่สามารถลดน้ำหนักได้จริง และได้ผลเร็วที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโรคอ้วนทุกคนจะสามารถเข้ารับการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักได้ จะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคอ้วนเฉพาะทาง ด้วยการตรวจความพร้อมของสุขภาพกาย รวมทั้งสุขภาพจิตว่าสามารถรับการเปลี่ยนแปลงในการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลังการผ่าตัดได้หรือไม่
การผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักเหมาะกับใคร
1. ผุู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI มากกว่า 37.5 ขึ้นไป โดยไม่ต้องมีโรคประจําตัวร่วม
2. ผุู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI มากกว่าหรือเท่ากับ 32.5 และมีโรคร่วมที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูงฯ
3.ผุู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI มากกว่า 27.5 ขึ้นไป และป่วยเป็นโรคเบาหวานรุนแรง ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาทั่วไป
4.ผุู้ป่วยโรคอ้วนที่มีอายุ 18 – 65 ปี เนื่องจากถ้าอายุน้อยหรือมากเกินไป จะส่งผลต่อการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก
หมายเหตุ : การผ่าตัดกระเพาะอาหารไม่จำเป็นต้องผ่าตัดในผู้ที่เป็นโรคอ้วนระดับรุนแรงเสมอไป แต่ผู้ที่มีดัชนีมวลกายเกินกว่า 27.5 เป็นต้นไป ซึ่งจัดว่าเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานค่อนข้างมากแล้ว สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดได้
ประเภทของการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก
1. การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร (Sleeve Gastrectomy): เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและทานอาหารได้น้อยลง
2. การผ่าตัดบายพาสกระเพาะอาหาร (Gastric Bypass): เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารและปรับเปลี่ยนทางเดินอาหาร ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ทานอาหารได้น้อยลง และลดการดูดซึมอาหาร
การผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักมีผลดีอย่างไร
1. ช่วยรักษาหรือลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนที่มาจากความอ้วน
-โรคเบาหวานชนิดที่ 2: การผ่าตัดช่วยลดการดื้ออินซูลิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้น
– โรคความดันโลหิตสูง: การลดน้ำหนักช่วยลดความดันโลหิต
– โรคไขมันในเลือดสูง: การผ่าตัดช่วยลดระดับไขมันที่ไม่ดี (LDL) และเพิ่มระดับไขมันที่ดี (HDL)
– โรคหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea): การลดน้ำหนักช่วยลดอาการหยุดหายใจขณะหลับ นอนหลับได้ลึกขึ้น
– โรคหัวใจและหลอดเลือด: การลดน้ำหนักช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
– โรคไขมันพอกตับ: การลดน้ำหนักช่วยลดปริมาณไขมันในตับ
– โรคมะเร็งบางชนิด: การลดน้ำหนักช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน
– โรคข้อเข่าเสื่อม: การลดน้ำหนักช่วยลดแรงกดทับที่ข้อเข่า ทำให้อาการปวดข้อดีขึ้น
2. ปรับปรุงคุณภาพชีวิต สร้างความมั่นใจในการเข้าสังคม
– การลดน้ำหนักช่วยให้สุขภาพดี
– การมีรูปร่างที่ดีขึ้น เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น
– สร้างความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และกล้าที่จะเข้าสังคม
– สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำไม่ได้
– ลดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล
ผู้ป่วยโรคอ้วนที่สนใจหาข้อมูลการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนักในอันดับแรก ๆ ควรเลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐาน และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก เพื่อขอคำปรึกษาและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลก่อนและหลังการผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลประกอบการตัดสินใจ