ไม่ว่าจะอ้วนจากกรรมพันธุ์, พฤติกรรมการกินอาหาร, ขาดการออกกำลังกาย และระบบเผาผลาญพลังงานในร่างกายเสื่อมสภาพ ล้วนมีโอกาสที่จะเป็นโรคอ้วนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคแทรกซ้อนเรื้อรังที่แฝงตัวมาจากความอ้วนได้ทั้งสิ้น การตรวจสอบว่าเราเป็นคนเจ้าเนื้อ อวบนิด ๆ หรือ กำลังเข้าสู่โรคอ้วนหรือไม่นั้น สามารถเช็คได้จากค่า BMI (Body Mass Index) ดังนี้
ค่า BMI 25-30 เริ่มเข้าสู่ภาวะอ้วน หรือ น้ำหนักเกินเกณฑ์ โดยเทียบเคียงค่าน้ำหนักตัวจะอยู่ประมาณ 70 – 80 กิโลกรัม แพทย์มักจะแนะนำให้ปรับพฤติกรรมการกินอาหารและออกกำลังกายให้มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ควบคู่กับออกกำลังกายได้ น้ำหนักก็จะค่อย ๆ ลดลงได้
ค่า BMI 30 – 37.5 ถ้ายังไม่มีโรคแทรกซ้อน แพทย์จะให้คำแนะนำให้ ควบคุมอาหารควบคู่กับออกกำลังกาย แต่ในบางรายอาจต้องใช้ยาที่มีผลไปบล็อกการดูดซึมของไขมันในลำไส้ร่วมด้วย
ค่า BMI 32.5 – 37.5 และมีโรคแทรกซ้อน กับกลุ่มที่ค่า BMI เกินกว่า 37.5 ขึ้นไป โดยเทียบเคียงค่าน้ำหนักตัวจะมากกว่า 100 กิโลกรัม หากผู้ป่วยโรคอ้วนไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติได้ แพทย์จะแนะนำให้รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์ว่าสามารถลดน้ำหนักลงได้ระยะยาว รวมถึงลดและป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ โดยผู้ป่วยจะไม่กลับไปอ้วนอีก หากเปลี่ยนพฤติกรรมการทานและออกกำลังกายสม่ำเสมอ
คนที่มีรูปร่างอ้วนลงพุง หรือ น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ควรหมั่นตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ป่วยโรคอ้วน รวมทั้งป่วยเป็นโรคแทรกซ้อนเรื้อรังจากความอ้วน หากพบว่าเข้าข่ายโรคอ้วนควรเข้ารับการรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้พัฒนากลายเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายกว่าเดิม