โรคอ้วน นอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนเรื้อรังแล้ว ยังเป็นสาเหตุของภาวะมีลูกยากมากกว่าคนที่มีน้ำหนักมาตรฐานมากถึง 40% โดยโรคอ้วนจะส่งผลโดยตรงต่อฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งในเพศชายจะทำให้การผลิตอสุจิที่สมบูรณ์แข็งแรงลดลง 22% และมีความเข้มข้นลดลง 24% สำหรับเพศหญิงจะส่งผลโดยตรงกับการทำงานของรังไข่ ประจำเดือนขาด และภาวะตกไข่ไม่ปกติ
ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีค่า BMI เกิน 37.5 หรือ BMI เกิน 32.5 และมีโรคแทรกซ้อนจากความอ้วน ที่ต้องการจะมีลูก ทางแพทย์จะให้ลดน้ำหนักเพื่อเตรียมสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถลดน้ำหนักได้โดยวิธีทั่วไปได้ แพทย์จะแนะนำให้รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) เพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารหรือจำกัดการดูดซึมสารอาหารในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ได้รับการยอมรับและเป็นมาตรฐานสากล โดยการผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นกับความเหมาะสมในแต่ละบุคคล
หลังผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ผู้ป่วยจะน้ำหนักลดลงและคงที่ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี โดยระยะเวลาที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ คือ หลังจากผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก อย่างน้อย 1 ปี และต้องแจ้งสูติแพทย์ด้วยว่าได้รับการผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก ด้านอาหารจะยังต้องทานอาหารโปรตีนเป็นหลัก หลีกเลี่ยง น้ำตาล น้ำหวาน และต้องระวังเรื่องน้ำหนักขึ้น และเรื่องเบาหวานขณะตั้งครรภ์